วันอังคารที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2552

ภัยจากการหลงลืม

ภัยจากการหลงลืม


‘ลืม’ ดูเป็นคำแก้ตัวง่ายดายที่สุดที่สามารถทำให้เจ้านายเลือดขึ้นหน้าได้ง่ายๆ ใครๆ คงไม่อยากลืมในเรื่องที่ไม่ควรลืม แต่บางครั้งอาการลืม ป้ำๆ เป๋อๆ ของคนหนุ่ม สาว อย่างเราๆ อาจส่อถึงภัยบางอย่างที่เราอาจนึกไม่ถึง ข้อมูลจากนายแพทย์ปราโมทย์ ชูดำ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลระยอง บอกกับเราว่า
อาการขี้ลืม เป็นอาการปกติที่อาจเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา หากเป็นในผู้สูงอายุ มักเกิดจากการเสื่อมถอยของสภาพสมองตามกาลเวลา แต่หากบางคนมีอาการหลงลืมมากๆ จนก่อให้เกิดปัญหาในการใช้ชีวิต อาจสันนิษฐานได้ว่า เกิดจากโรคสมองเสื่อมซึ่งเป็นการเสื่อมของสมองซึ่งไม่ได้เกิดจากความชราหรือการเสื่อมตามกาลเวลา สาเหตุที่ทำให้เกิดสมองเสื่อมก็มีได้หลายประการ เช่น ศีรษะถูกกระแทก โรคหลอดเลือดสมอง โรคติดเชื้อในสมอง การขาดสารอาหารบางชนิด เนื้องอกในสมอง หรือแม้กระทั่งการป่วยโรคทางอายุรกรรม เช่น โรคไต โรคตับ โรคไทรอยด์ ก็อาจส่งผลต่อการทำงานของสมองได้ด้วยครับ” แล้วขนาดไหนถึงเรียกว่าผิดปกติ
“ผู้ป่วยจะหลงลืมชนิดที่เรียกว่าที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน เช่น โดยมากคนปกติมักจะจำได้ทีหลังว่าลืมเรื่องอะไรหรือรู้ตัวว่าลืม แต่การหลงลืมเนื่องจากการเสื่อมของสมอง จะลืมโดยไม่ทราบว่าตัวเองลืม เช่น กินข้าวแล้วบอกว่ายังไม่ได้กิน วางของไว้บนโต๊ะแล้วบอกว่าไม่ได้วาง นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการตัดสินใจที่แย่ลง มีปัญหาในการคิดรวบรวม ขาดการคิดริเริ่ม มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและอารมณ์อย่างเห็นได้ชัด เช่น บางคนเคยร่าเริงก็กลับเศร้า เบื่อ กังวล บางคนมีอาการหงุดหงิด ระแวง หรือแยกตัว เมื่อเป็นนานเข้า ผู้ป่วยจะเสียการสำนึกระลึกรู้ตัว (Insight) และวิจารณ-ญาณตัดสินใจ (Judgment) จนในที่สุดจะดูแลตัวเองไม่ได้
“การรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การลดความระแวงและความทรมานของผู้ป่วย ลดภาระของญาติที่ต้องดูแล ซึ่งมีทั้งการให้ยาเพื่อเพิ่มความจำและการให้ยาจิตประสาทขนาดอ่อน เพื่อทำให้อาการทางจิตทุเลาลง โดยยาช่วยความจำก็มีผลช่วยลดอาการทางจิตได้ด้วย เนื่องจากการมีความจำดีขึ้นจะทำให้ผู้ป่วยทำความเข้าใจต่อสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น”
ปัจจุบันเราอนุมานว่านักการเมืองไทยหลายท่านเป็นโรคนี้ ทั้งแบบรู้ตัวและแกล้งไม่รู้ตัว อย่างไรเสีย เพื่อความเจริญของประเทศ น่าจะปรึกษาแพทย์เป็นการดีครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น